คิดว่าทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่าการฟังของคนเรามีหลายระดับ ฟังแบบผ่านๆ ฟังแบบเอารายละเอียด
การฟังแบบผ่านๆ ก็คือการฟังแบบไม่ตั้งใจเสียงผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป สมองอาจไม่ได้จำ หรือรับข้อมูลที่เราได้ยินนั้นเก็บไว้เลยก็ได้
ฟังแบบเอารายละเอียดก็คือ การฟังโดยใช้สมาธิเข้าช่วย ให้สมองเก็บข้อมูลที่เราได้ยินนั้นไว้และยังอาจมีการ คิด วิเคราะห์ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันเลยด้วยก็ได้
สำหรับนักดนตรี การฟังเพลงแบบเอารายละเอียดก็ยังมีระดับที่แตกต่้างกันลงไปอีก ขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์ และคุณภาพหูของคนฟังด้วย
สำหรับนักดนตรี การฟังเพลงก็เหมือนการอ่านหนังสือ ข้อมูลทุกอย่างในการพัฒนาฝีมือ จริงๆแล้วสามารถหาได้จากแผ่นบันทึกเสียงทั้งนั้น
นักดนตรีทั่วๆไปจะ สามารถแยกแยะเสียงที่ได้ยินออกจากกันได้ (จะมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่ว่า หูของคนนั้นดีแค่ไหนด้วย) ตัวอย่างเช่น สามารถแยกระบุได้ว่าเสียงเมโลดี้ที่ได้ยิน เล่นโน้ตตัวเดียวกันมาจากเครื่องดนตรีสองหรือสามชิ้น เครื่องอะไรบ้าง หรืออย่างไลน์กีต้าร์ในเพลงป๊อปทั่วๆไป นักดนตรีส่วนใหญ่จะฟังออกว่ามันเล่นทับกันกี่รอบ มีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ละไลน์เล่นต่างกันยังไง
สำหรับจุดนี้ทำให้นักดนตรีหลายคนหมดความ สุขจากการฟังเพลง เพราะหูคอยฟังแต่ข้อมูลที่มันวิ่งเข้ามา บวกกับความรู้ทางทฤษฏีที่เจ้าตัวมีอยู่ในหัว ฟังปุ๊ปก็จะเกิดอาการ… “อ๋อ มันใช้ไอ้นี่ นี่เอง” หรือ “ฮ่วย.. โน้ตตัวนั้นเล่นผิด เล่นมาได้ไงฟะ เสียงก็เพี้ยน ห่วยจริงๆ” และอื่นๆอีกมากมาย
ส่วนใหญ่เวลาฟังเพื่อ แกะเพลง ก็จะฟังหาระดับเสียงของตัวโน้ตเพื่อเล่นตาม แต่สำหรับพวกหูที่มี perfect pitch ก็จะสามารถฟังแล้วรู้เลยว่าโน้ตที่ได้ยินมีตัวอะไรบ้างโดยไม่ทันได้จับ เครื่องดนตรีด้วยซ้ำ
ไอ้พวกมีหูแค่ระดับ related pitch อย่างเราก็ต้องมีเครื่องดนตรีอยู่ในมือก่อนถึงจะรู้ว่ามันโน้ตอะไร ซึ่งก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย เคยเจอบางคนฟังให้ตายมันก็ยังหาโน้ตไม่เจออยู่ดี แบบนี้คงเป็นนักดนตรียากหน่อย
นอกจากฟังเพื่อแกะเพลงแล้ว การฟังเพลงของนักดนตรียังช่วยให้ข้อมูลด้านอื่นๆด้วย เช่นการแกะเพลงเพื่อเรียนรู้เรื่องการเรียบเรียงเสียงประสาน การใช้ harmony หรือเจาะจงฟังข้อมูลบางอย่างเช่น ฟังเพื่อรับรู้ถึง Time และ Feel รวมถึงโทนเสียงด้วย
การฝึกซ้อมของนักดนตรีไม่ได้จำกัดอยู่แค่เวลาที่ ใช้กับเครื่องมือ แต่การซ้อมยังสามารถเกิดขึ้น เฉพาะภายในสมองด้วย เพราะเมื่อเครื่องดนตรีกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายก็อยู่ที่ว่าเราจะใช้มัน ทำอะไร ดนตรีก็เหมือนภาษา เล่นดนตรีก็เหมือนเราพูดเพื่อสื่อสารกับคนฟัง ฝึกเล่นเทคนิคต่างๆ เพื่อให้พูดจาได้คล่องแคล่วไ่ม่ติดอ่าง ส่วนจะพูดอะไรออกมามันขึ้นอยู่กับ concept ในหัว
ดังนั้นการฟังจึง เป็นการ input ข้อมูลเพื่อให้สามารถพูดอะไรออกไปได้อย่างมีความหมาย เหมือนเราฝึกเรียนภาษา ถึงจะเห็นตัวอักษรแต่ถ้าเราไม่เคยได้ยินว่ามันออกเสียงยังไง ถึงไม่เป็นใบ้ก็คงไม่มีทางพูดออกเสียงคำนั้นได้อยู่ดี
แล้วคุณล่ะ ได้ยินอะไรเวลาฟังเพลง…