Common Practice Period

ยุคบาโรค

Baroque (1600 – 1760)

ในตอนปลายของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาดนตรีถูกประดับประดาด้วยการปรุงแต่งเสียงประสานและท่วงทำนองมากมาย ศิลปะบาโรคคือผลลัพธ์ที่แสดงออกในทางตรงข้ามด้วยการเน้นระเบียบแบบแผนและเรียบง่าย ถือเป็นยุคที่มีความสำคัญเป็นรากฐานของรูปแบบดนตรีตะวันตกที่สำคัญมาก การศึกษาเสียงประสานจนเกิดเป็นวิชาฮาร์โมนี่ (Harmony) ก็เกิดขึ้นในยุคนี้เอง เช่น การใช้ figure bass มีการพัฒนารูปแบบการเขียนโน้ต และเทคนิกการเล่นเครื่องดนตรีเพื่อใช้ในการแสดง มีการพัฒนารูปแบบวงดนตรีทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ เช่น chamber music และอื่น ๆ

คีตกวีที่มีความสำคัญในยุคนี้ได้แก่ Johann Sebastian Bach, George Frideric Handel, Alessandro Scarlatti, Domenico Scarlatti, Antonio Vivaldi, Georg Philipp Telemann, Jean-Baptiste Lully, Arcangelo Corelli, François Couperin, Denis Gaultier, Claudio Monteverdi, Jean-Philippe Rameau, Johann Pachelbel, และ Henry Purcell

รูปแบบของดนตรีในยุคนี้ที่ควรศึกษาได้แก่ opera, cantata, oratorio, concerto, และ sonata

คลาสสิก

Classical (1730 – 1820)

ชื่อยุคที่คุ้นเคยกันดีมักถูกใช้เรียกแทนลักษณะดนตรีตะวันตก ดนตรีในยุคนี้ได้รับการพัฒนาต่อจากยุคบาโรค มีความชัดเจนของเสียงประสานที่แจ่มชัดกว่าและมีความซับซ้อนน้อยกว่ายุคบาโรค ท่วงทำนองหลักของดนตรีในตอนต้นของยุคคลาสสิกจะได้รับการสอดประสานด้วยคอร์ดมากกว่า counterpoint ซึ่งกลับมามีบทบาทมากขึ้นในช่วงปลายของยุค การใช้ phrase และ cadence มีความชัดเจนขึ้น รวมถึงมีการใช้ dynamic เช่น crescendo, diminuendo และ sforzando รวมทั้งมีการย้ายคีย์ และเปลี่ยนสีสรรภายในบทเพลงให้เห็นอยู่เสมอ

รูปแบบของดนตรีในยุคคลาสสิกที่สำคัญได้แก่ sonata, trio, string quartet, symphony, concerto, serenade และ divertimento นอกจากนี้ Sonata form ยังได้รับการพัฒนาจนถือเป็นคีตลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของดนตรีในยุคคลาสสิก

คีตกวีที่เด่นของยุคคลาสสิกคือ Joseph Haydn, Wolfgang Amadeus Mozart, and Ludwig van Beethoven นอกจากนั้นยังมี Gioachino Rossini, Luigi Boccherini และ Christoph Willibald Gluck โดยที่ Beethoven นั้นอาจถือได้ว่าเป็นคีตกวีร่วมสมัยกับยุคโรแมนติก หรือเป็นคีตกวีผู้ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างยุคคลาสสิกกับโรแมนติก

โรแมนติก

Romantic (1815 – 1910)

ศิลปยุคโรแมนติกเกิดขึ้นควบคู่กับแนวคิดของยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) และการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งถือได้ว่าผู้คนได้หลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของศาสนจักรและหันมาให้ความสำคัญกับมนุษย์และความเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น ดนตรีในยุคนี้มีการประดับประดาทำนองและเสียงประสานอย่างมาก การเปลี่ยนกุญแจเสียง (modulation) ในยุคนี้แตกต่างจากยุคบาโรคและคลาสสิกที่นิยมเปลี่ยนไปกุญแจเสียงสัมพันธ์ (Related key) หรือ กุญแจเสียงร่วม (Relative key) โดยเฉพาะกุญแจเสียงที่มีความสัมพันธ์กันเป็นคู่ 5 เพอร์เฟค รวมถึงขั้นคู่พลิกกลับคือคู่ 4 เพอร์เฟคด้วย แต่ในตอนปลายยุคคลาสสิกต่อเนื่องยุคโรแมนติกนี้ไม่นิยมการเปลี่ยนกุญแจเสียงให้แนบเนียนอีกต่อไป ผู้แต่งต้องการรสชาติของการเปลี่ยนกุญแจเสียงให้ได้ยินชัดเจน จึงนิยมเปลี่ยนไปกุญแจเสียงที่มีความสัมพันธ์เป็นคู่ 3 และ คู่ 6 โดยที่โหมดเมเจอร์และไมเนอร์สามารถใช้แทนกันได้หรือยืมจากบันไดเสียงคู่ขนาน กล่าวได้ว่าหลักการประสานเสียงได้ถูกใช้อย่างหลวม ๆผ่อนคลายมากกว่ายุคก่อนหน้า ยุคโรแมนติกนี้มีการใช้ระบบครึ่งเสียง (chromaticism) ซึ่งพัฒนาต่อจากตอนปลายของยุคคลาสสิก นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นคอร์ด Neapolitan และ Augmented Sixth ขึ้นในยุคนี้ด้วย

เนื่องด้วยสถาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงดนตรีในยุคโรแมนติกมักถูกแฝงด้วยแนวคิดชาตินิยม เช่น Jean SibeliusFinlandia ได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดประเทศฟินแลนด์ ซึ่งในขณะนั้นต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากการควบคุมของรัสเซีย หรือคีตกวีร่วมสมัยคนอื่น ๆ ที่ประพันธ์เพลงบรรยายถึงสถานที่หรือบ้านเกิดของตนเป็นต้น

คีตกวีที่มีผลงานคาบเกี่ยวระหว่างยุคคลาสสิกและยุคโรแมนติกคือ Ludwig van Beethoven, Bernhard Crusell, Mauro Giuliani, Niccolò Paganini, Carl Maria von Weber, Gioachino Rossini, Franz Schubert

คีตกวีที่สำคัญในยุคโรแมนติก ได้แก่ Felix Mendelssohn, Frédéric Chopin, Robert Schumann, Franz Liszt, Emilie Mayer, Giuseppe Verdi, Richard Wagner, Johann Strauss II, Josef Strauss, Eduard Strauss, Johannes Brahms, Pyotr Ilyich Tchaikovsky, Edward Elgar, Giacomo Puccini, Isaac Albéniz, Gustav Mahler, Claude Debussy, Richard Strauss, Jean Sibelius, Scott Joplin, Sergei Rachmaninoff, Maurice Ravel, Franz Schreker

หมายเหตุ: คีตกวีที่สำคัญยังมีอีกหลายท่าน ที่ยกมาเป็นเพียงชื่อคีตกวีสำคัญที่ผมคุ้นชื่อเท่านั้น สำหรับ Scott Joplin (1867 – 1917) เป็นคีตกวีที่ได้รับขนานนามว่า The Ragtime King ดูจะมีส่วนในจุดเริ่มต้นของดนตรีแจ๊สในยุค Dixieland ทั้งนี้แผ่นบันทึกเสียงซึ่งทางวิชาการถือเป็นจุดกำเนิดของประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊ส โดยวง Original Dixieland Jazz Band (ODJB) ถูกบันทึกในปี 1920 แต่วงดนตรีที่เล่น ragtime ในขณะนั้นมีอยู่ทั่วไป