เพลงโหมโรงดนตรีไทย

เพลงโหมโรง

เพลงโหมโรง คือ เพลงที่ใช้บรรเลงเป็นอันดับแรกหรือเรียกว่า “เบิกโรง” ก่อนการแสดงมหรสพต่าง ๆ เพื่อประกาศให้ผู้ชมทราบว่าการแสดงได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว นอกจากนั้นการบรรเลงเพลงโหมโรงยังมีประโยชน์ ดังนี้

  1. เพื่ออัญเชิญเหล่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงให้มาชุมนุมในงานเพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นการแสดงความเคารพต่อครูดนตรีไทยเพื่อให้เกิดกำลังใจในการที่จะบรรเลงหรือร้อง เล่น ต่อไป
  2.  เพื่ออุ่นเครื่องให้นักดนตรี พร้อมถือโอกาสปรับแต่งเครื่องดนตรีในการบรรเลงบทเพลงต่อ ๆ ไป
  3. เพื่อให้นักร้องได้ถือโอกาสเทียบเสียงเพื่อเตรียมขึ้นเสียงร้องต่อได้ทันที โดยไม่ต้องรอนักดนตรีให้เสียง
  4. เป็นการประกาศบอกให้ผู้ชมได้ทราบว่าการแสดงต่อไปนั้น เป็นการแสดงชนิดใด

ชนิดของเพลงโหมโรง

  • เพลงชุด เป็นเพลงโหมโรงที่โบราณาจารย์ได้นำเพลงหน้าพาทย์หลายๆ เพลงมาเรียบเรียงไว้และบรรเลงต่อเนื่องกัน แต่ละเพลงมีความหมายในทางศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อการอัญเชิญเทพยดาต่าง ๆ เพลงโหมโรงชนิดนี้ เป็นเพลงโหมโรง “สำหรับวงปี่พาทย์เท่านั้น” ใช้บรรเลงในงานพิธีมงคล และมหรสพต่าง ๆ เช่น โขน ละคร หนังใหญ่ และลิเก โหมโรงชนิดนี้ ได้แก่ โหมโรงเช้า โหมโรงกลางวัน และโหมโรงเย็น

      • โหมโรงเช้า ใช้สำหรับการทำบุญเลี้ยงพระมี 5 เพลงคือ สาธุการ เหาะ รัว กลม และชำนาญ
      • โหมโรงกลางวัน เกิดขึ้นจากประเพณีการแสดงมหรสพในสมัยโบราณ ถ้าเป็นการแสดงกลางวันซึ่งได้เริ่มแสดงตั้งแต่เช้ามาแล้ว เมื่อถึงเวลาเที่ยงจะต้องหยุดพักกลางวันเพื่อให้ตัวละครและผู้บรรเลงดนตรีตลอดจนผู้ร่วมงานการแสดงได้หยุดพัก และรับประทานอาหารกลางวัน โหมโรงกลางวัน ประกอบด้วยเพลง กราวใน เชิด ชุบ ลา กระบองตัน เสมอข้ามสมุทร เชิดฉาน ปลูกต้นไม้ ชายเรือ รุกร้น แผละ เหาะ โล้ และวา
      • โหมโรงเย็น ใช้ในพิธีที่นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์มี 13 เพลงคือสาธุการ ตระ รัวสามลา ต้นเข้าม่าน เข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ รัว เชิด กลม ชำนาญ กราวใน ต้นเข้าม่าน และลา
      • โหมโรงเทศน์ ใช้ในพิธีการแสดงพระธรรมเทศนา มี 6 เพลงคือสาธุการ กราวใน เสมอ เชิด ชุบ และลา
    • โหมโรงเพลงชุดชนิดอื่น ๆ (โหมโรงโขน และละคร)ใช้บรรเลงเพื่อประกาศว่าที่นี่จะมีการแสดงโขนหรือละคร รวมถึงอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงด้วย โหมโรงโขนและละครแบ่งได้ดังนี้
      • โหมโรงละครเช้า, เย็น ใช้เพลงดังนี้ ตระ รัวสามลา เข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ รัว เชิด กลม ชำนาญ กราวใน และลา
      • โหมโรงละครกลางวัน ใช้เพลงดังนี้ กราวในสามท่อน เสมอข้ามสมุทร รัวสามลา เชิด ชุบ ลา กระบองกัณฐ์ ตะคุกรุกลน เพลงเรือ เหาะเรือ และรัว
      • โหมโรงโขนเช้า มีทั้งหมด 9 เพลงดังนี้ ตระสันนิบาต เข้าม่านเที่ยวลา เสมอรัว เชิด กลม ชำนาญ กราวใน ตะคุกรุกลนและกราวรำ
      • โหมโรงโขนกลางวัน ใช้เพลงดังนี้ กราวใน เสมอข้ามสมุทร เชิด ชุบ ตระบองกัน ตะคุกรุกล้น ใช้เรือ ปลูกต้นไม้ คุกพาทย์ พันพิราพ เสียน เชิด ปฐม รัว และบาทสกุณี
      • โหมโรงโขนเย็น ใช้เพลงดังนี้ ตระสันนิบาต เข้าม่าน ลา กราวใน เชิดและกราวรำ
      • โหมโรงเสภา ใช้ประกอบการขับเสภา โดยบรรเลงสลับกับการขับเสภา โหมโรงชุดนี้มี 2 เพลง คือ
        • รัวประลองเสภา ใช้เพืออุ่นเครื่องนักดนตรี ก่อนที่จะขับเสภาในลำดับต่อไป
        • เพลงโหมโรงเสภา เป็นเพลงเดี่ยวนำมาบรรเลงเป็นชุดสั้น ๆ เช่น อัฐมบาท จุฬามณี แขกมอญ พม่าวัด ฯลฯ
      • โหมโรงมโหรี ใช้เหมือนกับโหมโรงเสภา แต่จะไม่มีเพลงรัวประลองขึ้นต้นเท่านั้น
      • โหมโรงหนังใหญ่ ใช้เพลงชุดโหมโรงเย็น แต่ใช้ปี่กลางบรรเลง เรียกทางที่เล่นว่า ทางกลาง
  • เพลงเดี่ยว หรือ 2 เพลงต่อเนื่องกัน เรียกว่าโหมโรงเสภา หรือโหมโรงวา เหตุที่เรียกว่า โหมโรงเสภา เนื่องจากในสมัยก่อน เป็นเพลงที่ใช้บรรเลงก่อนที่จะมีการเล่นเสภา หรือการร้องส่ง ซึ่งแต่เดิมทีเดียวการโหมโรงก่อนการเล่นเสภาเป็นเพลงชุด ต่อมาเห็นว่านานเกินไปจึงตัดเหลือแต่เพลงวา ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงต่อจากชุดโหมโรงก่อนจะเริ่มเล่นเสภา หรือการแสดงมหรสพต่าง ๆ ทุกครั้ง จึงได้กลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา
      • โหมโรงเสภา คือ เพลงโหมโรงที่ประดิษฐ์ขึ้นตามแบบของเพลงวา และนำทำนองท่อนจบของเพลงวามาใช้ เพลงโหมโรงเสภา หรือ โหมโรงวา เป็นเพลงโหมโรง “สำหรับวงดนตรีไทยทุกประเภท” ทั้งวงเครื่องสาย วงปี่พาทย์ และวงมโหรี  มีผู้แต่งเพลงโหมโรงชนิดนี้เอาไว้เป็นจำนวนมาก
      • โหมโรงไอยเรศ เป็นเพลงโหมโรงเสภา หรือ โหมโรงวา ที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดทั้งท่วงท่าทำนอง และวิธีดำเนินลีลาของ เพลง จึงเป็นที่นิยมนำมาบรรเลงกันอย่างแพร่หลาย

เพลงสาธุการ

เพลงสาธุการ เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงมีความหมายเพื่อแสดงการน้อมไหว้และเคารพบูชา ใช้ประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ มีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมดนตรีไทยโดยจะบรรเลงเป็นเพลงแรกในชุดโหมโรงเช้า และ โหมโรงเย็น

เพลงสาธุการมักใช้เป็นเพลงแรกในการฝึกหัดผู้เล่นฆ้องวงใหญ่ก่อนที่จะเรียนเพลงอื่น ๆ ทางฆ้องของเพลงสาธุการเป็นลูกฆ้องอิสระที่เอื้ออำนวยให้นักดนตรีได้แสดงภูมิปัญหา สร้างสรรค์ พัฒนาทำนองและการใช้มือฆ้อง ทำให้เพลงนี้มีทางเพลงมากมายในปัจจุบัน

http://www.youtube.com/watch?v=lA0iHM4YydE

โหมโรงไอยเรศ

อ้างอิง

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=91568

http://www.banramthai.com/html/plengthai16.html

http://www.patakorn.com/modules.php?name=News&file=article&sid=48

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87