ความรู้สึกของความเป็นพ่อ – แม่

เมื่อแน่ใจว่าคุณภรรยาตั้งครรภ์ท้องแรก จากการใช้ชุดตรวจเช็คการตั้งครรภ์ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจ และเริ่มคิดถึงสิ่งที่จะต้องเตรียมตัวต่อไป ซึ่งอันดับแรกก็คือการฝากท้องนั่นเอง

ฝากท้องที่ไหนดี

หลังจากสอบถามคนรู้จักหลายๆคน และหาข้อมูลจาก Internet อยู่พักใหญ่ๆ หลายๆเสียงก็ชี้ชวนให้ไปฝากท้องกับ อาจารย์หมอ บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ โดยคนแนะนำซึ่งคะแนนเสียงมีน้ำหนักกับเรามากก็คือ พี่ที่เป็นหมอผิวหนังที่พรเกษมคลีนิก คนนี้ฝากท้องและคลอดกับคุณหมอบุญชัย ใช้วิธีผ่าคลอดและยืนยันมาว่าแผลเล็ก เรียบ มากๆ และแทบจะไม่เจ็บแผลเลย (หมอจบเฉพาะทางด้าน skin ยืนยันเองแบบนี้ ไม่เชื่อได้ไง) และอีกคนที่เพิ่มความมั่นใจในตัวคุณหมอบุญชัยให้กับเรา ก็คือรุ่นน้องที่ตอนนี้เรียนสูติฯ เป็น resident อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬา ซึ่งคุณหมอบุญชัยเป็นอาจารย์อยู่นั่นเอง

หมายเหตุ: ผมตั้งใจจะเขียน entries ที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และฝากท้องกับอาจารย์หมอบุญชัยจนถึงการทำคลอด แยกออกมาอีก 1 บทความ

ความกังวลของพ่อ – แม่

สมัยนี้คนเราชอบป่วยเป็นโรคอะไรแปลกๆ ก่อนจะตั้งครรภ์ก็ต้องไปเช็คตรวจเลือดกันก่อน ว่าเป็นพาหะของโรคอะไรหรือเปล่า เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอื่นๆ ซึ่งอันนี้ไม่ยาก สามารถเดินเข้าไปขอรับการตรวจเลือดก่อนตั้งครรภ์เพื่อจะมีลูก ที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ค่าใช้จ่ายไม่แพง เมื่อตั้งท้องแล้วก็เป็นห่วงว่าลูกจะพัฒนาการดีหรือเปล่า ความกลัวว่าลูกจะเป็นนั่นเป็นนี่ ที่เป็นหัวข้อหลักเลยก็คือ

ลูกจะมีหัวใจหรือเปล่า

ในช่วงสัปดาห์ที่ 10 – 12 คุณหมอจะอัลตร้าซาว์นดูว่าเด็กมีหัวใจหรือเปล่า ถ้ามีหัวใจเต้นก็ถือว่าโล่งอกไปได้หนึ่งเปราะ

ลูกจะเป็นพวก down syndrome หรือเปล่า

ดาวน์ ซินโดรม เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปรกติของการที่มีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง ทำให้มีอาการปัญญาอ่อนปานกลางถึงรุนแรง และมีลักษณะใบหน้าเฉพาะที่มองเห็นได้ชัดว่าผิดปรกติ เคยเรียนมาจากวิชาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่สมัยมัธยม ตอนนั้นมันดูไกลตัวเหลือเกิน ถึงเวลานี้มันไม่ไกลตัวอีกแล้ว การตรวจคัดกรองจึงสำคัญมาก และเราก็ภาวนาว่าลูกเราจะเป็นปรกติดี ไม่เช่นนั้นคงไม่สนุกแน่

การตรวจคัดกรองความผิดปรกติของทารก สามารถทำได้ดังนี้

  1. การตรวจคัดกรองในไตรมาสแรก: หากคุณแม่อายุไม่มาก (ไม่เกิน 35 ปี) สามารถอัลตร้าซาว์นดูความหนาของเนื้อเยื่อต้นคอ ร่วมกับกาเจาะเลือดตรวจระดับสาร PAPP-A และ beta-hCG และนำไปเทียบกับค่าปรกติ การตรวจนี้จะทำในช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์
  2. การตรวจคัดกรองในไตรมาสที่สอง: หากผลตรวจไตรมาสแรกออกมาว่ามีความเสี่ยง คุณหมอจะทำการตรวจในไตรมาสสอง เรียกว่า “Triple Test” โดยเจาะเลือดคุณแม่ไปตรวจหาสาร 3 ชนิดที่พบในสตรีตั้งครรภ์ – beta hCG, unconjugated estriol, และ alphaphetoprotien เพื่อนำไปเทียบกับค่าปรกติ การตรวจนี้จะทำในช่วงอายุครรภ์ 14-20 สัปดาห์
  3. หากคุณแม่อายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติเคยแท้งมาก่อน หรือมีภาวะเสี่ยงจากการตรวจตามข้อ 1 และ 2 คุณหมอจะให้ตรวจน้ำคร่ำ เพื่อเช็คความปรกติของโครโมโซม ผลพลอยได้ของการตรวจน้ำคร่ำคือ สามารถตรวจหาโรคที่เกิดจากความผิดปรกติของ DNA และ ดูว่าคุณแม่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียชนิดเบต้าหรือเปล่า (มีโอกาสทำให้ทารกเป็นโรคโลกหิตจางธารัสซีเมียแบบรุนแรง) นอกจากนี้ยังจะได้รู้เพศของลูกน้อยเป็นของแถมมาด้วย แต่เท่าที่ทราบการตรวจน้ำคร่ำนี้มีความเสี่ยง ทำให้มีโอกาสแท้งลูกได้ 0.2 – 0.5%

ลูกจะตายมั๊ย

ความห่วงนี้เกิดขึ้นตลอดเวลานี้ที่ลูกอยู่ในท้อง และคิดว่าคงจะห่วงอย่างนี้ต่อไปจนเราตายจากกันไป

คนเราบทจะตายบางทีก็ตายกันง่ายๆ ลูกที่อยู่ในท้องเรามองไม่เห็นว่าเค้าอยู่ยังไง พัฒนาตัวเองขึ้นมาปรกติ ดี – ร้าย แค่ไหน ตอนท้องอ่อนก็ต้องระวังไม่ให้คุณแม่ได้รับความกระทบกระเทือน กลัวตกเลือด ลูกจะหลุดออกจากผนังมดลูก ถึงไตรมาสสองก็ห่วงว่าจะมีใครซุ่มซ่าม (หรือคุณแม่ซุ่มซ่ามเอง) มีอะไรมากระแทรกโดนท้อง หรือเกิดอุบัติเหตุหรือเปล่า มาถึงไตรมาสสามก็ห่วงว่ารกจะพันคอตัวลูกเองมั๊ย ดิ้นมากๆก็กลัว ดิ้นน้อยๆก็กลัว เพราะลูกอยู่ในท้อง เรามองไม่เห็นว่าเค้าอยู่ยังไง

คลอดลูกที่ไหนดี

ปรกติการคลอดลูกจะทำที่โรงพยาบาลที่เราไปฝากท้อง หรือโรงพยาบาลที่คุณหมอที่เราฝากท้องออกตรวจ สิ่งที่ต้องนำมาคิดประกอบกันก็คือเรื่องสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาล สถานที่ตั้งโรงพยาบาลว่าอยู่ในพื้นที่ที่สามารถไปมาได้สะดวกหรือไม่ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถไปถึงโรงพยาบาลได้อย่างไร ค่าใช้จ่ายจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือ หากลูกออกมาแล้วมีอะไรผิดปรกติ จะสามารถรักษาได้หรือไม่ หรือจะส่งต่อไปรักษาที่ไหนได้หรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบปัจจุบัน (พ.ศ.2554) NICU ในเมืองไทยมีจำนวนเตียงไม่มากนัก รวมๆกันแล้วไม่เกิน 100 (ลองคิดเทียบกับจำนวนประชากรเด็กที่เกิดใหม่ ผมคิดว่าจำนวนเตียงเป็นตัวเลขที่น้อยมาก อาจเป็นด้วยราคาของ unit ที่สูงมาก เท่าที่ทราบประมาณ unit ละเป็นล้านบาท) แม้เราไม่คาดหวังให้ลูกเราออกมาแล้วต้องใช้บริการ NICU เป็นเวลานาน แต่ก็ควรคิดเผื่อเอาไว้ด้วย เพราะการย้ายผู้ป่วยเด็กออกจากโรงพยาบาล “ไม่ง่าย”

คลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด

การผ่าคลอดจะมีความจำเป็นต่อเมื่อเด็กไม่กลับหัวลง หรือมีความผิดปรกติใดๆ ที่บ่งชี้ว่าคุณแม่จะไม่สามารถทำการคลอดได้เองตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันความเสี่ยงและอันตรายจากการผ่าคลอด มีน้อยกว่าสมัยก่อนมากทำให้คุณแม่หลายๆคนเลือกที่จะผ่าคลอดมากกว่า เนื่องจากกลัวการเจ็บท้องคลอด เรียกว่ายอมที่จะเจ็บแผลดีกว่า ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณาณของแต่ละคนครับ

หมายเหตุ: ผมเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องลูกนี้จากประสบการณ์ตรง และข้อมูลเท่าที่หามาได้ หวังว่าจะมีประโยชน์กับคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ (เหมือนผม) ท่านอื่นๆ และจะยินดีมากหากจะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันครับ

 

สนับสนุนโดย: วงดนตรีงานแต่งงาน งานเลี้ยง – Bank Jazz Band