มือใหม่เลือกจักรยานปั่นออกกำลัง – Part 1 ชนิดของจักรยาน

ปั่นจักรยานออกกำลัง

อาจกล่าวได้ว่าจักรยานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่สำหรับตัวผมเองมองว่าจักรยานเป็นแค่พาหนะใช้เดินทาง เคยปั่นเล่นตอนเด็กและก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมาย พอพ้นวัยเด็กก็ขี่มอเตอร์ไซต์และขยับมาขับรถยนต์แล้วก็ไม่ได้หันมาสนใจจักรยานอีกเลย คิดแค่ว่าจักรยานเป็นพาหนะสำหรับให้แม่บ้านปั่นไปจ่ายตลาด แม้จะเคยได้รู้ได้เห็นว่ามีเพื่อน ๆ คนรู้จักปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายแต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะมาปั่นกับเค้าบ้าง จนกระทั่งมีเหตุต้องหาซื้อจักรยานใหม่ให้ที่บ้านจึงเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับจักรยาน ความสนใจเรื่องสุขภาพของตัวเองท่ีมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนประกอบกับถูกคนรอบข้างบิ้วจนเริ่มสนใจที่จะปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายในที่สุด

จักรยานประเภทต่าง ๆ

บทความนี้คงเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนสำหรับคนที่รู้เรื่องจักรยานอยู่แล้ว แต่สำหรับมือใหม่อย่างผมปัญหาแรกเมื่อคิดจะเริ่มปั่นจักรยานคือจะเลือกปั่นจักรยานแบบไหนดีเพราะมีให้เลือกเยอะแยะมากมายไปหมด และนี่คือข้อมูลที่ผมสรุปจากการอ่านตามเวปไซต์ต่าง ๆ นำมาเฉพาะชื่อที่เห็นคนพูดถึงตามเวปบอร์ดต่าง ๆ ในเมืองไทย ผิดถูกอย่างไรคงต้องรบกวนให้ผู้รู้ที่บังเอิญผ่านมาเจอบล๊อคนี้ช่วยแก้ไขให้ที่คอมเม้นท์ด้านล่างครับ

จักรยานเสือหมอบ (Road Bike)

เสือหมอบเป็นจักรยานยอดนิยมสำหรับคนที่ชอบความเร็ว ลักษณะแฮนด์จะโค้งลงด้านล่าง (drop handlebar) เวลาปั่นจะต้องก้มตัวลงเพื่อให้ลู่ลม สามารถปั่นทำความเร็วสูงได้ดีบางครั้งถูกเรียกว่า racing bike ล้อของจักรยานเสือหมอบจะมีขนาดใหญ่และมีหน้ายางที่แคบเพื่อลดแรงเสียดทานช่วยให้สามารถปั่นได้เร็วยิ่งขึ้น จักรยานชนิดนี้เหมาะสำหรับปั่นทางเรียบ

เสือหมอบแฮนด์ตรง (Flat Bar Road Bike)

จักรยานเสือหมอบที่ใส่แฮนด์เป็นก้านตรง (flat handlebar) แทนที่จะมีลักษณะโค้งลงด้านล่างตามปรกติ บางครั้งเรียก fitness bike ระบบเกียร์ของจักรยานชนิดนี้นิยมใช้ชุดเกียร์ของจักรยานเสือภูเขา ลักษณะเด่นคือเป็นจักรยานที่เบาและเร็วในขณะที่ผู้ปั่นไม่ต้องก้มต่ำมากทำให้ได้ท่าปั่นที่เป็นธรรมชาติกว่าเสือหมอบปรกติ เหมาะสำหรับปั่นเดินทางในเมืองและปั่นออกกำลัง

จักรยานเสือภูเขา (Mountain Bike)

เสือภูเขาเป็นจักรยานยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถลุยได้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นทางในป่าหรือถนนที่มีความขรุขระ เรียกว่าจะเอาไปปั่นบุกป่าฝ่าดงลุยโคลนยังไงก็ได้ ลักษณะเด่นของจักรยานชนิดนี้ที่เห็นในปัจจุบันคือจะมีกัน “โช๊คอัพ” (suspension) ที่ตะเกียบหน้าและด้านหลังของเฟรม ยางจะมีหน้ากว้างและดอกยางขนาดใหญ่ ล้อมีความแข็งแรงทนทานและมีระบบเบรคที่มั่นคง เช่น ระบบดิสเบรค แทนที่ระบบเบรคด้านข้างเช่นเบรครูปตัววี

จักรยานทัวว์ริ่ง (Touring Bike)

จักรยานทัวว์ริ่งคือจักรยานที่ออกแบบหรือดัดแปลงเพื่อให้เหมาะกับการปั่นเพื่อท่องเที่ยว คุณลักษณะของจักรยานชนิดนี้คือ มีความแข็งแรง ปั่นสบาย สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มาก นอกจากนี้อาจเสริมด้วยการใช้ยางที่มีหน้ากว้างมากกว่าจักรยานเสือหมอบ

จักรยานไฮบริด (Hybrid Bike)

จักรยานไฮบริดถือได้ว่าเป็นลูกผสมระหว่างจักรยานเสือหมอบและเสือภูเขา เพื่อตอบสนองการปั่นในหลายวัตถุประสงค์และใช้งานง่าย (general-purpose and user-friendly bicycle) ความมั่นคงและความสะดวกสบายของจักรยานชนิดนี้ทำให้ได้รับความนิยมในหมู่นักปั่นหน้าใหม่และนักปั่นเดินทางในเมือง จักรยานชนิดนี้มักจะใช้แฮนด์ตรง (flat handlebar) ประกอบกับระบบเบรคและเกียร์ของเสือภูเขา นอกจากนี้ยังสามารถติดอุปกรณ์เสริมอย่างที่มักจะพบในจักรยานทัวว์ริ่ง เช่น ช่องติดอุปกรณ์บรรทุกของหน้า-หลัง ขนาดความกว้างของหน้ายางจะอยู่ระหว่างความกว้างของจักรยานเสือหมอบและเสือภูเขา สำหรับเฟรมของไฮบริดอาจมีลักษณะคล้ายกับของเสือหมอบหรือเสือภูเขาก็ได้

จักรยานแทรคกิ้ง (Trekking Bike)

แทรคกิ้งเป็นจักรยานไฮบริดที่ติดตั้งอุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับจักรยานทัวว์ร่ิง เช่น บังโคลน ตะกร้า และไฟส่องสว่าง

จักรยานครอสไบค์ (Cross Bike)

ครอสไบค์เป็นจักรยานไฮบริดที่ใช้เฟรมคล้ายของเสือหมอบ และโดยปรกติใช้แฮนด์ตรงเหมือนเสือภูเขา จักรยานชนิดนี้ออกแบบให้ใช้กับล้อขนาด 700c หน้ายางขนาด 28-32mm ซึ่งกว้างกว่าจักรยานประเภทเสือหมอบและทัวว์ริ่งและทำให้จักรยานชนิดนี้ต่างจาก cycle-cross จักรยานคลอสไบค์เป็นจักรยานที่สามารถปั่นลุยทางที่มีความขรุขระได้แต่มีน้ำหนักเบา โดยมากไม่นิยมติดตั้งบังโคลน ไฟ และตะแกรงบรรทุกของ

จักรยานซิตี้ไบค์ (City Bike)

ซิตี้ไบค์เป็นจักรยานที่ออกแบบมาสำหรับใช้ปั่นในเมือง เฟรมมีความแข็งแรงและน้ำหนักเบา ใช้ชุดเกียร์แบบจักรยานเสือภูเขา โดยมากใช้ล้อขนาด 26 นิ้ว เช่นเดียวกับจักรยานเสือภูเขา ร่วมกับหน้ายางขนาด 38-50mm ที่มีดอกยางขนาดใหญ่เพื่อป้องกันเศษวัสดุที่พบได้มากบนถนนในเมืองเช่นเศษแก้วแตก และยังช่วยให้ปลอดภัยจากหลุมและสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ที่จะทำให้ยางแตกได้ง่าย วัสดุที่ใช้ทำเฟรมจักรยานชนิดนี้มักเป็น chromoly หรือ aluminum เช่นเดียวกับเสือภูเขา นอกจากนี้ซิตี้ไบค์มักติดตั้งบังโคลน ไฟ และ โช๊คอัพ เพื่อให้สามารถปั่นได้ในทุกสภาพอากาศ

จักรยาน Cyclo-cross (Cross Bike)

Cyclo-cross bike เป็นจักรยานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเสือหมอบและ racing bike ต่างกันที่ลักษณะรูปเรขาคณิตของเฟรม ระยะห่างระหว่างตัวเฟรมกับผู้ขี่เมื่อก้าวคล่อมจักรยาน (clearance) ที่กว้างกว่า และยางที่มีขนาดใหญ่กว่าจักรยานเสือหมอบ ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการแข่งขัน cyclo-cross

จักรยานฟิคเกียร์ (Fixed Gear)

ฟิคเกียร์เป็นจักรยานที่ไม่สามารถปั่นล้อฟรีได้ กล่าวคือจักรยานทั่วไปผู้ปั่นจะสามารถพักขาและปล่อยให้รถไหลไปตามแรงเฉื่อยได้แต่จักรยานฟิคเกียร์ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ กลไกการปั่นของจักรยานชนิดนี้จะยึดก้านปั่นกับล้อหลังไว้ด้วยกันทำให้ผู้ขี่จักรยานไม่สามารถที่จะหยุดปั่นได้ จักรยานชนิดนี้โดยมากจะติดตั้งเฉพาะเบรคหน้า หรือไม่ติดตั้งระบบเบรคเลย ในทางตรงข้ามจะใช้การปั่นเพื่อชะลอความเร็วรถ จุดเด่นของจักรยานชนิดนี้ที่จักรยานชนิดอื่น ๆ ไม่มีคือ จักรยานชนิดนี้สามารถปั่นถอยหลังได้

จักรยานขนาดเล็กและจักรยานพับ (Mini Bike and Folding Bike)

จักรยานพับได้ ชื่อก็บอกแล้วครับว่ามัน “พับได้” ออกแบบมาเพื่อให้สามารถเก็บหรือเคลื่อนย้ายได้ง่าย  ประหยัดพื้นที่ สามารถนำไปเก็บในตึก ที่ทำงาน หรือนำขึ้นระบบขนส่งสาธารณะไปกับเราได้ สามารถพับเก็บได้รวดเร็ว โดยมากมีล้อขนาดเล็กประมาณ 20 นิ้ว มีบางรุ่นใช้ล้อขนาด 26 นิ้ว แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนักเนื่องจากไม่ได้ประโยชน์จากการพับเพราะยังเปลืองพื้นที่เก็บอยู่ดี

ส่วนจักรยานมินิก็คือจักรยานขนาดเล็กที่พับไม่ได้นั่นเอง ส่วนใหญ่จะใช้ล้อขนาด 20 นิ้ว

จักรยาน BMX

BMX เป็นขื่อของจักรยานยอดนิยมยี่ห้อหนึ่ง เริ่มในปีช่วงต้นปีทศวรรษที่ 1970 ที่แคลิฟอร์เนีย และโด่งดังมากในช่วงกลางของทศวรรษที่ 1970 จักรยาน BMX มีหลายชนิด ได้แก่ Race, Freestyle, Dirt jump, Flatland, Street, Park, และ Trial

จากการอ่านหาข้อมูลผมพบว่าแท้จริงแล้วชนิดของจักรยานมีเยอะมากและไม่ได้จำกัดอยู่แค่หน้าตาของเฟรมและแฮนด์จับ แต่ขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้งาน วัสดุที่ใช้ทำตัวจักรยานเองและอื่น ๆ มากมายหากสนใจหาข้อมูลว่าจักรยานจริง ๆ แล้วมีกี่ชนิดผมแนะนำให้ลองอ่าน List of bicycle types และ Bicycle

มือใหม่เลือกจักรยานปั่นออกกำลัง – Part 2 เลือกจักรยาน