ระบบเกียร์แบบคลัตช์คู่ (Dual Clutch)

มาถึงตอนที่ 4 ระบบเกียร์แบบคลัตช์คู่ หรือ Dual-Clutch Transmission (DCT) ซึ่งเป็นที่มาทำให้ผมเขียนบล๊อคทำความรู้จักระบบเกียร์รถยนต์แบบต่าง ๆ ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 และ ตอนที่ 3 เหตุที่นึกอยากรู้ขึ้นมาก็สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งที่วง iHear ได้ไปทำการทดสอบรถ Ford Focus ใหม่ เมื่อกลางปี 2012 ที่จังหวัดกระบี่ โดยส่วนตัวผมชอบเจ้า New Focus นี้มาก ต่อมาผมก็มีโอกาสได้ลองขับ Ford Fiesta ที่โชว์รูมแถวบ้าน สิ่งหนึ่งที่ผมชอบจากการได้ทดลองขับรถทั้งสองรุ่นคืออัตราเร่ง ความแน่นของช่วงล่าง และความรู้สึกที่ได้จากการนั่งหลังพวงมาลัย

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเจ้า DCT …ความอยากรู้อยากเห็นของผมเริ่มเกิดตอนที่มีลูกศิษย์ที่มหาลัยซื้อ Focus มาขับประกอบกับมีรถ Fiesta เพิ่มขึ้นบนท้องถนนให้สังเกตเห็นอยู่เรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับข่าวลือเรื่อง “เกียร์กระตุก”

มันกระตุกยังไง ทำไมกระตุก สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของรถอย่างผมคงบอกไม่ได้ แต่ไหน ๆ ก็เล็งเอาไว้ว่าเปลี่ยนรถเมื่อไหร่ Focus จะเป็นตัวเลือกอันดับแรกที่มองก็เลยต้องขอทำความรู้จักกับเจ้าระบบเกียร์เจ้าปัญหานี่สักหน่อย

Dual-Clutch Transmission (DCT)

เป็นระบบเกียร์ที่ว่าง่าย ๆ เหมือนเป็นการเอาเกียร์ธรรมดาสองชุดมาทำงานร่วมกันผ่านระบบควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ ระยะเวลาในการเข้าเปลี่ยนเกียร์ของระบบนี้ว่ากันว่าอยู่ในขั้น “เสี้ยววินาที” เลยทีเดียว พร้อมข้อดีของเกียร์ธรรมดาที่มีน้ำหนักเบากว่าเกียร์อัตโนมัติ ไม่มีการสูญเสียพลังงานระหว่างการเปลี่ยนเกียร์ ทั้งสองข้อนี้ช่วยให้รถประหยัดน้ำมันยิ่งขึ้นพร้อมกับการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปถึงระบบขับเคลื่อนอย่างได้ประสิทธิภาพสูงสุด

dual clutch transmission

การทำงานของเกียร์จะเหมือนระบบที่เรียกว่า semi-automatic หรือระบบกึ่งอัตโนมัติ กล่าวคือมีคอมพิวเตอร์คอยควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่มีระบบเหมือนเกียร์ธรรมดา หรือจะบอกว่าเป็นเกียร์ธรรมดาที่เคลื่อนไหวได้เองเพราะคอมพิวเตอร์ (อ่านตอนที่ 2 จะเห็นว่าเกียร์อัตโนมัติมีระบบการทำงานต่างจากเกียร์ธรรมดา) แต่ระบบคลัตช์คู่จะมีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะแกนที่ติดตั้งเฟืองเกียร์แบ่งเป็น 2 ชุด โดยชุดหนึ่งติดตั้งเกียร์เลข และอีกชุดหนึ่งติดตั้งสำหรับเกียร์เลขคู่ ดังนั้นขณะที่รถเคลื่อนที่อยู่ในเกียร์ที่ 1 ระบบจะเตรียมชุดเกียร์ 2 ไว้ให้เรียบร้อยรอให้คลัตช์จับก็ปั่นต่อได้เลยว่างั้น จากแหล่งข่าวที่ผมอ่านมาเค้าว่ามันทำให้การเปลี่ยนเกียร์ของระบบคลัตช์คู่นี้เรียบเนียนสุด ๆ แบบแทบไม่รู้สึกว่ารถเปลี่ยนเกียร์ (เพราะมันเปลี่ยนเร็วในช่วงเวลาแค่เสี้ยววินาทีอย่างที่ว่า) ความต่อเนื่องในการเปลี่ยนเกียร์นี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เกียร์ระบบนี้พบในรถแข่ง และรถระดับไฮโซ ๆ เท่านั้น (Porsche พัฒนาระบบเกียร์แบบคลัชคู่นี้โดยเรียกมันว่า Porsche Doppelkupplungsgetriebe (PDK) transmission)

อธิบายการทำงานของระบบ Dual-Clutch Transmission

ถ้าระบบคลัตช์คู่มันเทพขนาดนั้นแล้วทำไมคนบ่นว่ารถกระตุก?

อาการกระตุกที่ความเร็วต่ำที่ได้ยินหลาย ๆ คนบ่นกันตามเวปไซต์ต่าง ๆ เข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุมักเกิดในเมืองที่การจราจรเอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวขับ เดี๋ยวเบลค เหยียบจะไปแล้วไม่ไป ใคร ๆ ก็เจอครับสถานการณ์ที่บังคับให้เราต้องขับลักษณะนี้ในเมือง ระบบคลัตช์คู่อาจจะมีดีที่การขับทางไกล สำหรับการไต่ขึ้นความเร็วที่ต่อเนื่อง พอเจอขับ ๆ หยุด ๆ มันเลยมึน เพราะคอมพิวเตอร์มันไม่รู้ใจเรา อาจใส่เกียร์ให้เราผิด แต่ความที่มันเป็น semi-automatic ผมเดาว่าถ้าสถานการณ์ขับไม่แน่นอน เราอาจจะเอามือกดเลื่อนเกียร์ขึ้นลงเองโดยใช้แป้นกดสั่งที่พวกมาลัยหรือด้ามคันเกียร์ (คงต้องให้เจ้าของรถที่ใช้คลัตช์คู่มาบอกว่าได้ผลหรือเปล่า)

Ford PowerShift Transmission

สำหรับระบบเกียร์ของ Ford ที่อยู่ในรถ Focus และ Fiesta นั้นเป็น DCT แบบคลัตช์แห้ง (ระบบ DCT มีทั้งแบบคลัตช์เปียกและคลัตช์แห้ง) ที่พัฒนาขึ้นโดยร่วมมือกับ Getrag โดยอ้างว่าสามารถช่วยให้รถประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 10% เมื่อเทียบกับระบบเกียร์อัตโนมัติทั่วไป

dual-clutch-powershift-transmission-ford
Ford Dual-Clutch Powershift Transmission

ระบบเกียร์ PowerShift นี้ถูกใช้ในรถยนต์ Ford และ Volvo

ที่มา: Dual-clutch transmissionFord PowerShift transmission