วิจัยสร้างสรรค์ศิลปะ
การวิจัยเป็นกระบวนการให้ได้มาซึ่งความรู้ โดยที่ความรู้นั้นอาจเป็นการหาความรู้หรือสร้างความรู้ใหม่ต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้การหาองค์ความรู้หรือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยคือองค์ความรู้ถือเป็นการสร้างสรรค์งานทางวิชาการ ซึ่งต่างจากการสร้างงานศิลปะที่ปลายทางของการนำองค์ความรู้ไปใช้ ให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นชิ้นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ
การตีความในงานวิจัยกับงานศิลปะ
การตีความถือเป็นหัวใจสำคัญของงานศิลปะทั้งหมด ทุกคนที่เสพผลงานมีสิทธิ์ที่จะตีความผลงานนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น บทกวี เมื่อได้รับการเผยแพร่แล้วทุกคนย่อมมีสิทธิ์ที่จะตีความบทกวีนั้น อาจเป็นการตีความโดยตัวเจ้าของผลงานเอง หรือเป็นการตีความโดยบุคคนอื่น ซึ่งการตีความนั้นมีความหลากหลายไม่จำเป็นต้องเหมือนหรือคล้อยตามการตีความโดยเจ้าของผลงาน ทั้งนี้การตีความในงานวิจัยแตกต่างจากการตีความงานศิลปะ เนื่องจากจำเป็นต้องมีเหตุผลและหลักฐานอ้างอิง นำมาประมวลเข้าด้วยกันเพื่อเป็นหลักฐานว่าการตีความในงานวิจัยนั้นน่าเชื่อถือ การตีความงานวิจัยทางศิลปะนั้นสามารถทำได้หลายแง่มุมทั้งในแง่ของความงามภายนอก ความงามภายใน รวมถึงบริบทต่าง ๆ เช่น ในแง่ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และอื่นๆ
ก่อนเริ่มกระบวนการวิจัย
การทำงานวิจัยเริ่มจากตั้งหัวข้อวิจัย โดยเรื่องที่จะทำการวิจัยนั้นจะต้องมีความแตกต่างจากหัวข้อวิจัยที่มีผู้อื่นทำมาก่อนแล้ว วิธีการหาหัวข้อวิจัยควรเริ่มจากการค้นหาสิ่งที่เราสนใจ จากนั้นจึงเริ่มอ่านบทความในหัวข้อที่เกี่ยวข้องและเริ่มตั้งคำถามเพื่อหาวิธีตอบคำถามเรื่องที่เราสนใจ การเสนอหัวข้อโครงการวิจัยแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้
- หัวข้อ
- หลักการและเหตุผล ที่มาของปัญหา
- วัตถุประสงค์
- คำถามของงานวิจัย
- วิธีการวิจัย
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เมื่อกล่าวถึงงานวิจัยเชื่อว่าหลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องยากและไกลตัว อันที่จริงหัวข้องานวิจัยสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่ผู้ทำวิจัยให้ความสนใจและมองเห็นถึงปัญหา ต้องการค้นหาหรือสร้างองค์ความรู้เพื่อใช้อ้างอิงในการตอบคำถามหรือเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น การคิดวิเคราะห์และตั้งสมมุติฐานเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบอาจถือเป็นงานวิจัยได้โดยผู้ทำการวิจัยไม่รู้ตัว นอกจากนี้เราสามารถเลือกและออกแบบวิธีการวิจัยให้เข้ากับรูปแบบของการตอบคำถามที่ต้องการได้ เมื่อมองภาพรวมของวิธีการทำงานวิจัยทั้งหมดเราสามารถแบ่งงานวิจัยออกเป็นลักษณะต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้
- การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)
- การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)
คือการศึกษาโดยการตั้งสมมุติฐานและใช้ข้อมูลทางสถิติช่วยในการหาคำตอบของหัวข้อวิจัย โดยมากใช้ในการวิจัยทางดนตรีศึกษา ประกอบด้วย
- การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) คือการวิจัยที่มุ่งเน้นการหาผลลัพธ์ที่ได้จากการตั้งสมมุติฐานบนพื้นฐานของเหตุและผลที่เกิดขึ้น การวิจัยชนิดนี้จะมีการแบ่งกลุ่มทดลองเพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มที่ต้องการศึกษา
- การวิจัยเชิงเดี่ยว (Single-Subject Research) มีลักษณะคล้ายการวิจัยเชิงทดลอง แตกต่างที่การวิจัยเดี่ยวมุ่งเน้นศึกษาผลกระทบที่เกิดกับผู้ถูกทดลองเพียงกลุ่มเดียวจากคำถามการวิจัยที่ต้องการศึกษา โดยมากการวิจัยชนิดนี้จะถูกใช้เพื่อศึกษาพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของกลุ่มศึกษาที่ไม่ปรกติ เช่น กลุ่มนักเรียนด้อยโอกาส
- การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ (Correlational Research) คือการวิจัยที่มุ่งศึกษาผลที่ได้จากสมมุติฐานโดยการสังเกต ไม่มีการควบคุมกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการศึกษา ผลที่ได้จากการวิจัยจะออกมาในรูปแบบเชิงสถิติระหว่างกลุ่มศึกษาว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
- การวิจัยเชิงเปรียบเทียบต้นเหตุ (Causal-Comparative Research) คือการศึกษาเพื่อหาคำตอบถึงสาเหตุของปัญหาระหว่างกลุ่มศึกษาที่มีอยู่ก่อนแล้ว มีลักษณะคล้ายการวิจัยเชิงความสัมพันธ์ ต่างกันที่การวิจัยชนิดนี้เน้นศึกษาสาเหตุที่มาของปัญหาไม่ใช่การศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตัวอย่าง
- การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) คือการศึกษาเพื่อหาคำตอบโดยการใช้แบบสอบถาม การวิจัยนี้ใช้เมื่อต้องการศึกษาลักษณะเฉพาะของกลุ่มตัวอย่าง เช่น เมื่อผู้ทำการวิจัยต้องการหาคำตอบเกี่ยวกับความคิดเห็น ลักษณะนิสัย หรือความเชื่อของกลุ่มศึกษา การวิจัยชนิดนี้สามารถประยุกต์ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลการตีความผลงานศิลปะได้
การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
คือการวิจัยที่มุ่งเน้นการหาคำตอบของสิ่งที่ต้องการค้นหาโดยไม่มีการตั้งสมมุติฐานขึ้นก่อน ข้อมูลที่ผู้วิจัยใช้ในการศึกษาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อเขียนหรือรูปภาพมากกว่าข้อมูลทางตัวเลข งานวิจัยทางมนุษยศาสตร์ที่ใช้มากในงานศิลปะ ถือเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยเช่นกัน ผลลัพธ์ของงานวิจัยเชิงคุณภาพจะเป็นข้อมูลเชิงพรรณนา ไม่ใช่ข้อมูลทางสถิติอย่างงานวิจัยเชิงปริมาณ วิธีการที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพประกอบด้วย
- การสังเกตและสัมภาษณ์ (Observation and Interviewing) คือการวิจัยที่รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นจากกลุ่มศึกษา ก่อนนำมาสรุปเป็นผลการวิจัย
- การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) คือการศึกษาจากผลผลิตทางปัญญาของมนุษย์ เช่น วรรณกรรม ภาพยนต์ และ บทเพลง นอกจากนี้แหล่งที่มาของข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาวิจัยชนิดนี้ยังรวมถึง หนังสือชนิดต่าง ๆ บทความ โฆษณา นิตยาสาร ภาพถ่าย และอื่น ๆ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้สามารถใช้หาข้อมูลที่มีอยู่แล้วเพื่อตอบคำถามวิจัย หรือใช้ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ตามที่ รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ได้อธิบายไว้ข้างต้น การวิจัยเชิงคุณภาพประกอบด้วย
- การวิจัยเชิงชาติพันธุ์ (Ethnographic Research) คือการวิจัยที่ใช้เมื่อต้องการหาคำตอบที่เป็นภาพในองค์รวมของสังคม กลุ่มคน สถาบัน หรือ สถานการณ์ต่าง ๆ แหล่งข้อมูลของงานวิจัยชนิดนี้มาจากการบันทึก สังเกต ติดตาม บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายของงานวิจัยแบบวันต่อวัน รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องในเบื้องลึก เป็นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงสภาพความเป็นไปที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เราสามารถนำวิธีวิจัยชนิดนี้มาใช้เพื่อหาคำตอบเกียวกับชีวิตของศิลปิน หรือบุคคลสำคัญในอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์งานศิลปะได้
- การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) คือการศึกษาเพื่อมุ่งหาคำตอบให้กับหัวข้อการวิจัยจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เป็นการศึกษาวิจัยโดยประเมินผลจากข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ
เมื่อทำความรู้จักการวิจัยประเภทต่าง ๆ จะเห็นว่าการวิจัยคือวิธีการรวบรวมข้อมูลเพื่อหาคำตอบอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าหัวข้อการวิจัยจะเป็นเช่นไร ผู้วิจัยสามารถเลือกวิธีการวิจัยชนิดต่าง ๆ มาใช้ได้ตามความเหมาะสม ข้อดีของการวิจัยนอกจากจะใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการแล้ว ยังสามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลให้กับผู้อื่นที่สนใจในหัวข้อเดียวกัน เป็นการถ่ายทอดและต่อยอดองค์ความรู้ให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น คำตอบที่ได้จากการวิจัยสามารถนำไปใช้เป็นองค์ความรู้เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด
เอกสารอ้างอิง:
Fraenkel, J.R., Wallen, N.E. (2003). How To Design And Eveluate Research In Education, 5th edition. McGraw-Hill, USA.